โลโก้เว็บไซต์ สองนักวิจัย มทร.ล้านนา คว้าสองรางวัล The Best  ผลงานนวัตกรรม จากเวที The 2nd RMUT-TRM Day | งานประชุมคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สองนักวิจัย มทร.ล้านนา คว้าสองรางวัล The Best ผลงานนวัตกรรม จากเวที The 2nd RMUT-TRM Day

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 27 กรกฎาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5063 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

             มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย อาจารย์ นักวิจัยและบุคลากร เข้าร่วมงาน “มหกรรมนวัตกรรมการทำงานของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลร่วมกับภาคประกอบการ ครั้งที่ 2” (The 2nd RMUT-TRM Day) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

           ภายในงาน RMUT-TRM DAY ครั้งที่ 2 นี้  มีการมอบรางวัล โดย ผศ.ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร ได้รับรางวัล the best of the best โครงการประเภท Talent resource management-Basic package จากผลงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิเคราะห์โภชนาการผงโกโก้เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ (Product Development and Nutritional Analysis of Cocoa Powder to Increase Business Opportunities of Healthy Food)  และ ผศ.ดร.ณภัทร ทิพย์ศรี หัวหน้าโครงวิจัย ได้รับรางวัล gold award โครงการประเภท Talent Resource management -Impact package จากผลงานโครงการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลานิลหยองเสริมแคลเซียมจากก้างปลานิลเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ (Enhancing of Tilapia Floss Calcium Supplement from Tilapia Fish Bones to Adding Value Commercial)

              งาน RMUT-TRM Day  ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่อแสดงผลผลิตและนวัตกรรม การทำงานร่วมระหว่างนักวิจัยของ มทร. และสถานประกอบการ ดำเนินการภายใต้แพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากร ผู้มีศักยภาพของกลุ่ม มทร. เพื่อปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ หรือ TRM-PLUS  ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งก่อนหน้านั้น สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ผลักดันนโยบาย “ONE RMUT” ของ มทร. จึงเกิดแนวคิดในการพลิกโฉมกลุ่มมหาวิทยาลัย สร้างกลไกใหม่ของการบริหารจัดการทุนวิจัยร่วมกันของคณะกรรมการร่วมจากทั้ง 9 มทร. ภายใต้การกำกับของ ทปอ. มทร. ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการทุกระดับโดยมี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 ผู้แทนหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมแห่งชาติ สถานประกอบการ และนักวิจัยผู้มีศักยภาพของกลุ่ม มทร. เข้าร่วมงานกว่า 300 คน  มีการนำเสนอ 145 สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากงานวิจัยของ 9 มทร. ร่วมกับสถานประกอบการทั่วไทย







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา